19042567

ปรับปรุงล่าสุด02:41:00 PM

โภชนาการ : การเปรียบเทียบความพึงพอใจในการใช้อาหารปั่นผสมสูตรครบถ้วนที่โรงพยาบาลผลิตเองกับผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์

๑. ชื่อหน่วยงาน : กลุ่มงานโภชนศาสตร์

๒. ผลงานเรื่อง : การเปรียบเทียบความพึงพอใจในการใช้อาหารปั่นผสมสูตรครบถ้วนที่โรงพยาบาลผลิตเองกับผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์

๓. คำสำคัญ: ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์, อาหารปั่นผสมสูตรครบถ้วน, ความพึงพอใจ

๔. เครื่องมือที่ใช้พัฒนา: PDCA

๕. สรุปเรื่องเล่าโดยย่อ : กลุ่มงานโภชนศาสตร์ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการอาหารทางสายให้อาหารโดยนำผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มาใช้แทนอาหารปั่นผสมที่โรงพยาบาลผลิตเอง และได้มีการสำรวจความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่บนหอผู้ป่วยระหว่างการเตรียม (feed) อาหารปั่นผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ว่าอาหารประเภทใดที่มีความสะดวกต่อการเตรียมมากกว่ากัน รวมทั้งความเข้าใจในด้านของคุณค่าสารอาหารและความสามารถในการรับได้ของผู้ป่วย พบว่าประเด็นเรื่องการขับถ่ายของผู้ป่วยและการยอมรับอาหารโดยรวมอาหารสูตรปั่นผสม ได้รับความพึงพอใจสูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ แต่ในบางข้อคำถาม (ระยะเวลาการเตรียม ระยะเวลาการให้อาหารแก่ผู้ป่วย และการคงสภาพเนื้อสัมผัสหลังการเก็บรักษา) ระดับความพึงพอใจของอาหารทางสายให้อาหารสูตรปั่นผสมได้รับค่าคะแนนความพึงพอใจต่ำกว่าอาหารทางสายให้อาหารสูตรผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์

๖. ชื่อที่อยู่องค์กร : กลุ่มงานโภชนศาสตร์ อาคารศรีอโยธยา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

๗. สมาชิกทีม :   
 
๑) นางสาวยุวภา  เจริญตา              
นักโภชนาการ ปฏิบัติการ  (ผู้ดำเนินการหลัก)
 ๒) นางอาภรณ์    วงศ์วิเชียร                     นักโภชนาการ ชำนาญการ
 ๓) นายออมสิน    ด่านพัฒนามงคล          นักโภชนาการ ชำนาญการ
 ๔) นางสาวกิตติมา ไวยศิลป์                 นักโภชนาการ
 ๕) นางสาวเบญจมาส    พบพิพัก           นักโภชนาการ

๘. เป้าหมาย  
๑)  เพื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ผู้เตรียมอาหารทางสายบนหอผู้ป่วย ระหว่างการเตรียม (feed) อาหารปั่นผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ให้ผู้ป่วย
๒)     เพื่อพัฒนาสูตรและรูปแบบการบริการอาหารทางสายให้อาหาร

๙. ที่มาของปัญหา : กลุ่มงานโภชนศาสตร์ ได้ผลิตอาหารทางสายให้อาหาร สำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โดยใช้สูตรปั่นผสม ซึ่งโรงพยาบาลได้ผลิตขึ้นเอง แบ่งเป็นประเภทสูตรครบถ้วน และสูตรเฉพาะโรคต่างๆ ในปัจจุบันมีอัตราการผลิตอาหารทางสายให้อาหารมีปริมาณเฉลี่ย ๒๖,๖๔๖ ลิตร ต่อปี คิดเป็นต้นทุนการผลิต ๒,๒๐๑,๐๗๗ บาทต่อปี เมื่อเทียบกับการนำผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูตรครบถ้วนมาใช้แทนอาหารปั่นผสมสูตรครบถ้วน ปริมาณที่เท่ากัน คิดเป็นต้นทุนการผลิต ๒,๐๑๙,๖๒๗ บาท ต่อปี จะเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตอาหารปั่นผสมที่โรงพยาบาลผลิตเอง มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต จึงมีการนำผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สูรครบถ้วน มาใช้แทนอาหารปั่นผสมสูตรครบถ้วนที่โรงพยาบาลผลิตเอง นอกจากนี้แล้วเพื่อเป็นการพัฒนาสูตรและรูปแบบการบริการอาหารทางสายให้อาหาร กลุ่มงานโภชนศาสตร์ จึงมีความสนใจที่จะศึกษาความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่ผู้เตรียมอาหารทางสายบนหอผู้ป่วย ระหว่างการเตรียม (feed) อาหารปั่นผสมกับผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ว่าอาหารประเภทใดที่มีความสะดวกต่อการเตรียมมากกว่ากัน รวมทั้งความเข้าใจในด้านของคุณค่าสารอาหารและความสามารถในการรับได้ของผู้ป่วย

๑๐. กิจกรรมการแก้ปัญหา/พัฒนา :

๑)     ประชุมระดมความคิด เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ตามทฤษฎี PDCA

๒)     นำผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มาใช้

๓)     สร้างแบบประเมินและสำรวจความพึงพอใจของเจ้าหน้าที่บนหอผู้ป่วย

๔)     วิเคราะห์ผลจากแบบประเมินความพึงพอใจ
๕)     อภิปรายผลและเขียนรายงาน

๑๑. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น :

          จากผลการสำรวจความพึ่งพอใจ พบว่าประเด็นเรื่องการขับถ่ายของผู้ป่วยและการยอมรับอาหารโดยรวมอาหารสูตรปั่นผสม ได้รับความพึงพอใจสูงกว่า ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ แต่ในบางข้อคำถาม (ระยะเวลาการเตรียม ระยะเวลาการให้อาหารแก่ผู้ป่วย และการคงสภาพเนื้อสัมผัสหลังการเก็บรักษา) ระดับความพึงพอใจของอาหารทางสายให้อาหารสูตรปั่นผสมได้รับค่าคะแนนความพึงพอใจต่ำกว่าอาหารทางสายให้อาหารสูตรผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ กล่าวคือ การผลิตอาหารทางสายให้อาหารสูตรปั่นผสมนั้น จะมีความเสี่ยงในเรื่องความเข้มข้นของสารอาหาร อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้คำนวณไว้ เนื่องจากปริมาณการผลิตในแต่ละวันมีปริมาณมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และปัจจัยเรื่องวัตถุดิบ เช่น ความแก่/อ่อน ของฟักทอง และกล้วยน้ำว้า ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารจะมีปริมาณแป้งไม่เท่ากัน จึงส่งผลให้เกิดความหนืดข้นของอาหารไม่สม่ำเสมอได้ เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทางสายให้อาหารสูตรผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ จะพบว่ามีปริมาณสารอาหารคงที่ และสม่ำเสมอ มีค่า Osmolality คงที่ จึงสามารถควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ต้องการได้และสิ่งที่สำคัญอีกประเด็นคือ ตั้งแต่มีการนำอาหารทางสายให้อาหารสูตรผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มาใช้ เป็นระยะเวลาประมาณ 12 เดือน ยังไม่พบรายงานอุบัติการณ์อาหารบูดเสียจากหอผู้ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาที่มีการผลิตอาหารทางสายให้อาหารสูตรปั่นผสมทั้งหมด จะพบอุบัติการณ์อาหารทางสายให้อาหารบูดเสียอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. ของทุกปี (เก็บข้อมูล 3 ปี ย้อนหลัง)

๑๒. บทเรียนที่ได้รับ : สรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการอาหารทางสายให้อาหารโดยการนำผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์มาใช้ทดแทนอาหารทางสายให้อาหารสูตรปั่นผสมนั้น สามารถลดความหนืดข้นของอาหารได้ ส่งผลทำให้อาหารไหลได้เร็วขึ้น และสามารถลดระยะเวลาในการให้อาหารได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดโอกาสการปนเปื้อน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อสู่ผู้ป่วย และสามารถควบคุมคุณภาพสารอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นไปตามแผนการรักษาของแพทย์ได้ ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ช่วยส่งเสริม/ฟื้นฟู ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมากก็็กก่ไฟๆเกฯ

๑๓. การติดต่อกับทีมงาน : กลุ่มงานโภชนศาสตร์  โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา 
โทรศัพท์ ๐-๓๕๒๑-๑๘๘๘ ต่อ ๗๓๓๑

๑๔.เอกสารอ้างอิง :

- ฐนิต วินิจจะกูล. ๒๕๖๒. เปรียบเทียบอาหารเสริมทางการแพทย์และแนวทางในการเลือก.” [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มาhttps://healthathome.in.th/blog/ (๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒).
- ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.๒๕๖๑.  “หน่วยอาหารทางสายให้อาหาร. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://med.mahidol.ac.th/food_nutrition/th/content/01302015-0855-th-0 (๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒).