19042567

ปรับปรุงล่าสุด02:20:00 PM

หน่วยตรวจพิเศษ : ก้าวที่ปลอดภัย

ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ Covid – 19

ชื่อหน่วยงาน : ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร

ผลงานเรื่อง/เรื่องเล่า : ก้าวที่ปลอดภัย

คำสำคัญ : ท่านปลอดภัย : เราปลอดภัย

สรุปเรื่องเล่าโดยย่อ : ในรอบ 3 ปี ที่ผ่านมา ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ให้บริการผู้ป่วยที่มาส่องกล้องระบบทางเดินอาหารผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี สถิติปี 2559,2560,2561 มีจำนวน 1,476,1645,1724 ราย ในปี 2562   มีจำนวน 1,546 ราย ลดลงเล็กน้อยเนื่องจาก ศัลยแพทย์ไปเรียน 2 คน  อายุรแพทย์เฉพาะทาง GI ลาออก 1 คน

ซึ่งตามแผนปฏิบัติการเรื่องการย้ายสถานที่ส่องกล้องไปที่ อาคารพุทไธศวรรย์ ชั้น 1 ในต้นปี 2563 ซึ่งสภาพก่อนย้าย เป็นห้องโล่งๆ ยังไม่ได้กำหนดจะใช้ห้องไหนทำอะไรอย่างไร รวมถึงไม่มีระบบน้ำ ระบบไฟ  ระบบปรับอากาศ ระบบแก๊ส สำหรับการเป็นศูนย์ส่องกล้อง แพทย์ GI ลาออก ศัลยแพทย์ส่องกล้องไปเรียนพร้อมกัน 2 คน ทำให้การออกแบบระบบเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากติดขัดเรื่องงบประมาณ ขาดผู้รู้  ผู้บริหารเปลี่ยนใหม่ ทำให้พยาบาลหัวหน้าหน้าห้องส่องกล้องและพยาบาลน้องๆในหน่วยต้องระดมความรู้ปรึกษาผู้รู้มาช่วยปรับปรุงเรื่องต่างๆดังนี้

1)   การแบ่งห้องส่องตรวจให้เป็นไปตามโครงสร้าง ซึ่งขนาดหรือทางเข้าออกที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อจะกำหนดการวางท่อแก๊สต่างๆ ให้เหมาะสม รวมถึงการวางstation กล้องส่องตรวจในอนาคตที่ต้องมีกล้องหรือมีการส่องตรวจมากกว่า 1 คนในเวลาเดียวกันด้วย

2)   การจัดทำระบบน้ำให้เพียงพอ มีมาตรฐานสำหรับการใช้ล้างเครื่องมือและพร้อมสำหรับการให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าน้ำไม่มี ไม่พอ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากการทดลองใช้ระบบน้ำของหน่วยไตหน่วยเดียว ทำให้ต้องคิดระบบการล้างกล้องอย่างไร ให้กล้องสะอาด ให้ทันต่อแพทย์ใช้ คิดระบบสำรองน้ำล้างกล้องและเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ให้เพียงพอใช้ 1-2 วัน คิดและออกแบบอย่างโดดเดี่ยว ท่ามกลางการการกดดันให้เปิดบริการ ท่ามกลางการมองการทำงานว่าไม่โปร่งใส เสนอแบบไปก็จะถูกตีกลับให้มาทบทวนเรื่องราคา เรื่องแบบ หลายต่อหลายรอบ

3)   การจัดระบบระบายอากาศ อาคารมีแต่เครื่องปรับอากาศให้เย็น แต่ไม่ได้วางแผนเรื่องการระบายอากาศภายในห้องตรวจไว้ให้เลย เนื่องจากการส่องกล้องจะมีทั้งเลือด ทั้งอุจจาระ ที่มีกลิ่นมาก การคำนวณระบบระบายอากาศก็ยาก ปรึกษาช่างภายในก็ยาก ต้องหาความรู้เอง หาทุนในการทำเอง หาช่างในการปรับปรุงเอง ทำไปตามทุนที่ได้รับ อนาคตวางแผนให้สมาคมส่องกล้องเข้ามารับรองระบบบริการ อาจมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป

4)   การปรับปรุงห้องส่องตรวจรองรับการส่องกล้องที่ต้องใช้รังสีสำหรับการตรวจรักษา อันนี้ก็ยากขึ้นไปอีก เนื่องจากคุยกับใครๆ ทั้งผู้บริหาร ช่าง หรือโรงพยาบาลในเขต ก็บอกว่าไม่เคยทำ บริษัทที่จะมารับทำก็หายาก ไม่เคยติดต่อเรื่องการทำ BOQ ไม่เคยรู้เรื่องการบุแผ่นกันรังสี แบบที่ที่ส่งผู้บริหารก็จะถูกกลับมาให้ทบทวนเรื่องคนรับรองแบบ เรื่องราคา เรื่องการจ้างคนทำ หลายครั้ง จนอนุมัติก็ต้องมาคุมการก่อสร้างปรับปรุงด้วยตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่คนคุมงาน แต่ด้วยกลัวว่าห้องของเราจะไม่เป็นไปตามแบบ) เนื่องจากช่างของโรงพยาบาลบอกว่าไม่มีอำนาจไม่ใช่หน้าที่

5)   การปรับปรุงสถานที่รอตรวจ สำหรับผู้ป่วยและญาติ ที่มาใช้บริการศูนย์ส่องกล้องฯและหน่วยโรคหัวใจ(ห้องโถง)  ด้วยหวังว่า จะเป็นด่านแรกที่ทำให้ผู้รับบริการประทับใจ ห้องสวย สะอาด สะดวกสบาย ด้วยการขออนุมัติผู้บริหารแล้วจึงมาออกแบบเอง หาบริษัทที่จะมาทำด้วยตัวเอง ซึ่งก็ถูกให้กลับมาทบทวนทั้งแบบ ทั้งราคา หลายครั้งจนเกือบถอดใจ

6)   การวางแผนจัดซื้อเครื่องมือ วัสดุ พัสดุและอุปกรณ์ ให้พร้อมใช้สำหรับการเป็นศูนย์ใหม่ เช่น กล้องส่องตรวจที่ยังมีไม่เพียงพอ ระบบล้างฆ่าเชื้อกล้องส่องตรวจและเครื่องมือต่างๆ โต๊ะ ตู้ เก้าอี้ ถังขยะต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการอนุมัติให้วางแผนได้เลย เนื่องจากมีงบประมาณและมีคณะกรรมการคอยดูแลช่วยเหลือเป็นอย่างดี         

ชื่อที่อยู่ขององค์กร : กลุ่มงานการพยาบาลตรวจรักษาพิเศษ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

สมาชิกทีม :   นางบังอร ผ่องโอภาส      นางพิรัลรัตน์  เจียมจิรานท์   นางมาริษา  เทียนทอง

                  นางอรญา  แก้วเกตุ       นางรุ่งนภา  ชาบรรดิษฐ      นายสนอง พุมสิน

เป้าหมาย : สถานที่น่าอยู่น่าทำงาน มีบริการที่ปลอดภัย ผู้ใช้มีความสุข

ที่มาของปัญหา : เพราะสถานที่ มีแต่ห้องหรือโครงสร้างให้เพียงอย่างเดียว เหมือนบ้านที่ยังไม่ได้มีการตกแต่ง           แต่กำลังถูกไล่ที่ (จากหน่วยส่องกล้องเดิมที่ขอห้องผ่าตัดมาใช้)ซึ่งพวกเราที่จะเข้าไปอยู่ก็ไม่ใช่เจ้าของบ้าน ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน แต่ถูกมอบหมายให้ไปวางแผน ไปทำไปปรับปรุงเพื่อให้ใช้สถานที่นั้นให้บริการให้ได้ โดยไม่มีที่ปรึกษาที่เป็นกูรูมาให้แต่อย่างใด

กิจกรรมการแก้ปัญหา/พัฒนา

1)       วางแผนที่ละอย่าง หาที่ปรึกษา

2)       ดำเนินการที่ละอย่างตามแผนที่วางไว้ ปรับตามผู้บริหาร

3)       ใจเย็นๆ ตั้งสติ ไม่น้อยใจผู้บริหาร ทำด้วยตัวเองตนเองเป็นที่พึงแห่งตน ทำอย่างโปร่งใส ให้ทุกอย่างตรวจสอบได้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

1)       ได้ห้องตรวจที่ดีกว่าเดิม มีความพร้อมในการให้บริการ มีมาตรฐานในการพยาบาลที่ปลอดภัยและช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อเกิดภาวะวิกฤติได้ดีกว่าเดิม

2)       ได้ระบบล้างฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐาน

3)       ได้ระบบน้ำที่เพียงพอได้มาตรฐาน

4)       มีระบบระบายอากาศที่ดีระดับหนึ่ง

5)       ได้สถานที่รับรองผู้ป่วยและญาติที่สวยงาม สะดวกสบาย

6)       ได้สถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีการจัดวางของตามหลัก 5 ส. สถานที่น่าอยู่น่าทำงาน

7)       รูปก่อนและหลังปรับปรุง...............10 รูป

บทเรียนที่ได้รับ

          เชื่อว่าความสำเร็จเกิดได้ถ้า เรามุ่งมั่นตั้งใจทำและทำให้ดีที่สุด ไม่น้อยใจไม่เสียใจเมื่อถูกตำหนิ ถูกติ ถูกว่า

          เชื่อว่าผู้หญิงก็ทำงานเหล่านี้ได้ เชื่อว่าพยาบาลก็ทำงานเหล่านี้ได้ เชื่อว่าความรู้จะเกิดขึ้นได้ในยามที่เราค้นหา

          เชื่อว่าคนศีลเสมอกันเท่านั้นที่จะเชื่อใจกันและเข้าใจกัน

          เชื่อว่าสิ่งที่ทำตอนนี้ไม่ได้ดีที่สุดยังมีสิ่งที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเรื่องๆ และสุดท้ายหวังและเชื่อว่า น้องๆที่ร่วมทำงานมาด้วยกันจะมีความสุขทุกๆวันที่ทำงาน ผู้ป่วยที่มารับบริการที่เราจะปลอดภัยและมีความสุขทุกคน

การติดต่อกับทีมงาน

          บังอร ผ่องโอภาส  ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร อาคารพุทไธศวรรย์ ชั้น 1 โทร 8150, 8150