19042567

ปรับปรุงล่าสุด02:20:00 PM

พิเศษ 4 : นวัตกรรมบิกินี่ตัวจิ๋ว เพิ่มพื้นที่ผิว ลดค่าตัวเหลือง

ชื่อผลงาน : นวัตกรรมบิกินี่ตัวจิ๋ว เพิ่มพื้นที่ผิว ลดค่าตัวเหลือง

เจ้าของนวัตกรรม : .. นนทยา นาคะสิงห์

ชื่อหน่วยงาน : หอผู้ป่วยพิเศษ 4

บทนำ : ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่พบบ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้ตามปกติ เป็นปัญหาเจ็บป่วยที่สำคัญของทารกแรกเกิดในระยะสัปดาห์แรกหลังเกิด เป็นภาวะที่ทารกมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าค่าปกติ เนื่องจากทารกมีขีดจำกัดในการกำจัดบิลิรูบิน ทำให้สารสีเหลืองคั่งอยู่ตามร่างกาย ดังนั้นการส่องไฟรักษาที่มีประสิทธิภาพมีจุดมุงหมายเพื่อลดระดับค่าบิลิรูบินในกระแสเลือด และป้องกันการเกิดภาวะสมองพิการ ประสิทธิภาพในการส่องไฟจะเพิ่มขึ้นหากเพิ่มพื้นผิวสัมผัสแสงในตัวทารกเพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวปฏิบัติหลายอย่าง เช่น การใช้ผ้ากั้นไว้โดยรอบแผงไฟทั้ง 3ด้านเพื่อช่วยป้องกันการกระจายของแสง การถอดเสื้อผ้าโดยเหลือเพียงผ้าอ้อมอย่างเดียว การจัดท่านอนให้นอนตรงกลางแผงไฟและเปลี่ยนท่านอนหงาย-ตะแคงทุก 2-4 ชั่วโมงเพื่อให้ผิวหนังทุกส่วนได้สัมผัสแสงไฟ กระตุ้นให้ทารกดูดนมมารดาทุก 2-3 ชั่วโมง เป็นต้น  จากการปฏิบัติที่ผ่านมาการนุ่งผ้าอ้อมจะทำให้ปิดผิวกายมากทำให้บริเวณส่วนล่างของทารกได้รับแสงลดลงซึ่งอาจทำให้สารบิลิรูบินถูกขับออกได้น้อยลง ซึ่งได้มีการจัดทำนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการส่องไฟรักษาในบริเวณดังกล่าวโดย การใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แทนผ้าอ้อมทารก ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องไปทารกตัวเหลืองได้ดีในเรื่องการเพิ่มพื้นที่ผิวในการส่องไฟรักษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

โดยปกติหอผู้ป่วยพิเศษ 4 โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ซึ่งให้การดูแลมารดาและทารกหลังคลอดมีสถิติการดูแลทารกตัวเหลืองในปี 2561 จำนวน 392 ราย ปี 2562 จำนวน 454 ราย และในปี 2563 (ตุลาคม-พฤศจิกายน) จำนวน 155 ราย และไม่พบการส่องไฟเพื่อรักษาตัวเหลืองนานเกิน 3 วัน ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้นวัตกรรมการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แทนผ้าอ้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องไฟทารกตัวเหลืองในเรื่องการเพิ่มพื้นที่ผิวในการส่องไฟรักษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  แต่เนื่องจากปัจจุบันเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ทำให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญอย่าง หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical mask) ซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงหรือรักษาคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  ดังนั้นจึงทำให้ต้องหยุดการใช้นวัตกรรม หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แทนผ้าอ้อมทารกในการส่องไฟทารกตัวเหลืองในทันที และกลับมาใช้ผ้าอ้อมหรือแพมเพิสเหมือนเดิมซึ่งทำให้ลดพื้นที่ผิวกายสัมผัสแสงและอาจทำให้ประสิทธิภาพในการส่องไฟลดลง จากปัญหาดังกล่าวจึงกลับมาทบทวนปัญหาและคิดหาหนทางในการแก้ปัญหา ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่โดยการใช้ผ้าแทนโดยตัดเป็นบิกินี่ตัวจิ๋วแทน หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเพิ่มพื้นที่ผิวในการส่องไฟรักษา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขจัดบิลิรูบินออกจากร่างกาย ค่าบิลิรูบินลดลง ลดค่าใช้จ่าย และวันนอนโรงพยาบาล ทีมพยาบาลที่ดูแลรวมถึงมารดาบิดาและญาติของทารกที่ได้รับการส่องไฟมีความพึงพอใจ และคลายความวิตกกังวลจากการเห็นบุตรป่วยเนื่องจากประสิทธิภาพในการส่องไฟเพิ่มขึ้น ทำให้ทารกอาการดีตัวเหลืองลดลงและสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น

วัตถุประสงค์

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องไฟทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลือง

วิธีการปฏิบัติ
1. ทบทวนปัญหา
2. หาแนวทางแก้ไข และคิดค้นนวัตกรรม
3. ทดลองใช้นวัตกรรม
4. ประเมินผล

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

 การส่องไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้น ค่าบิลิรูบินลดลง ลดค่าใช้จ่าย วันนอนโรงพยาบาลลดลง

อุปกรณ์ที่ใช้ประดิษฐ์

1.       ผ้าตัดเป็นชิ้นตามขนาดที่วางไว้

2.       กรรไกร เข็มหมุด จักรเย็บผ้า ดินสอ ไม้บรรทัด กระดาษ

 

 

วิธีการประดิษฐ์

1.      ตัดกระดาษตามแบบ  2 ชิ้น ชิ้นที่ 1  ขนาด 9 ×22 เซนติเมตร จำนวน 1 ชิ้น ชิ้นที่ 2  ขนาด 3 ×17 เซนติเมตร จำนวน 4 ชิ้น

2.       นำผ้าที่เตรียมไว้ มาตัดให้ได้ตามขนาด

3.       นำผ้ามาเย็บ และต่อให้ได้สายสำหรับผูก เส้น

 


วิธีการนำไปใช้

·       นำผ้าอนามัย ติดลงบนผ้า

·       วางรองก้นทารก

·       ผูกสายทั้ง สองข้างเหมือนบิกินี่

 
 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของผลงานและผลลัพธ์

        ตัวชี้วัด

เป้าหมาย

ผลลัพธ์ก่อนการดำเนินการ

ผลลัพธ์ที่ปฏิบัติได้

อัตราความพึงพอใจของผู้รับบริการ

80%

 N/A

92%

อัตราความพึงพอใจของบุคลากรต่อนวัตกรรม

80%

N/A

98%

ผลการดำเนินงาน
      หลังจากใช้บิกินนี่ตัวจิ๋วกับทารกแรกเกิดที่ตัวเหลืองและได้รับการส่องไฟรักษาพบว่า บิดามารดา และทีมพยาบาลมีความพึงพอใจ ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการเพิ่มประสิทธิภาพในการส่องไฟ สามารถถอดออกง่าย ทำความสะอาดทารกสะดวกเมื่อมีการขับถ่าย

บทเรียนที่ได้รับ
     เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติและไม่สามารถใช้อุปกรณ์ที่เคยใช้ได้ การร่วมมือร่วมใจที่จะคิดค้นนวัตกรรมทดแทนเป็นสิ่งสำคัญมาก และทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่สามารถทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพเท่าเดิม