19042567

ปรับปรุงล่าสุด02:20:00 PM

ICU 1/โรคติดเชื้อ : ประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 ในห้องแรงดันลบ

1. ชื่อหน่วยงาน ICU1 และโรคติดเชื้อ

2. งานวิจัย ประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 ในห้องแรงดันลบ

3. คำสำคัญ โรคโควิด19,  ห้องแรงดันลบ

4. เครื่องมือที่ใช้พัฒนา ได้แก่ แนวทางการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วย คำถามเปิดการสนทนา คำถามเกริ่น คำถามเข้าสู่ประเด็น คำถามหลัก และคำถามจบการสนทนา

5. สรุปโดยย่อ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อศึกษาประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 ในห้องแรงดันลบ โดยการสนทนากลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในห้องแรงดันลบ ตึกติดเชื้อ  โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ทำการสนทนากลุ่มจำนวน 4 ครั้ง รวมจำนวนผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม 22 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ประเด็นหลักที่ 1 ยามเผชิญหน้ากับโควิด19 จะเกิดความกลัว/ตื่นตระหนก เจอของจริงแล้ว  อย่ากระจายข่าว ทำให้ดีที่สุด ประเด็นหลักที่ 2 สารพัดการเตรียมพร้อม  เป็นการตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมความรู้ เตรียมอุปกรณ์ เตรียมสถานที่ รวมทั้งมีการติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ประเด็นหลักที่ 3 ตัวช่วยเสริมแรงใจสู้ภัยโควิด มุ่งเน้นการสร้างขวัญและกำลังใจ ผู้ป่วยรอดเราก็ต้องรอด ต้องสู้ด้วยสติ นโยบายต้องชัด ประเด็นหลักที่ 4 ความคาดหวังของนักรบชุดขาว  ต้องการให้ช่วยดูแลพวกเราด้วย อย่ารังเกียจกันเลย ให้โรคนี้หมดไปในเร็ววัน  มีหลักประกันชีวิต และ ประเด็นหลักที่  5 สิ่งดีๆ ที่ได้มา เป็นการเรียนรู้โรคใหม่ ภูมิใจที่ผ่านมาได้ โอกาสที่ซ่อนในความวิกฤต มีข่าวดีได้บรรจุเป็นข้าราชการ

6. ที่อยู่ขององค์กร กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

7. สมาชิกทีม นางถนิตชม เกาะเรียนไชย นางจินต์จุฑา  รอดพาล, นางเบญญาภา กสิกุล, และ นางสาวพนาวรรณ บุญพิมล

8. เป้าหมาย เพื่อศึกษาประสบการณ์ของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 ในห้องแรงดันลบ

9. ที่มาของปัญหา

 ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นไวรัสที่ถูกพบครั้งแรกในปี 1960 แต่ยังไม่ทราบแหล่งที่มาอย่างชัดเจนว่ามาจากที่ใดเป็นไวรัสที่สามารถติดเชื้อได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ ปัจจุบันมีการค้นพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้วทั้งหมด 6 สายพันธุ์ สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดหนักทั่วโลกตอนนี้เป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยพบมาก่อน คือ สายพันธุ์ที่ 7 จึงถูกเรียกว่าเป็น “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” และในภายหลังถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด19” (COVID-19) (มหาวิทยาลัยมหิดล, 2563)  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เริ่มจากประเทศจีนที่มีการรายงานครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2019  พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่รู้สาเหตุในเมืองอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้มีการรายงานเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2020 ว่าโรคปอดอักเสบระบาดที่อู่ฮั่น มีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019และพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้    ต่อมามีรายงานการพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด19 นอกประเทศจีนจำนวน 10 ราย คือ จากประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา โดยทั้งหมดมีประวัติการเดินทางจากเมืองอู่ฮั่น  ปัจจุบันการแพร่กระจายของโรคได้ขยายไปทั่วโลกแล้ว ในประเทศไทยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ในวันที่ 15 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยยืนยันที่เป็นคนไทยรายแรกโดยเดินทางกลับจากประเทศจีน จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ทั่วโลกมียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด19 จำนวน   5,91,801 คน รักษาตัวหายแล้ว  2,350,102 คน และยอดผู้เสียชีวิต   355,639  คน สำหรับในประเทศไทยยอดสะสมผู้ป่วยติดเชื้อ 3,065 คน รักษาหายแล้ว 2,945 คน   และยอดผู้เสียชีวิต 57 คน (กรมควบคุมโรค, 2563)

  จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2562 ในประเทศจีน และมีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายๆจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 524 เตียง มีห้องแรงดันลบ จำนวน 2 ห้อง ไว้สำหรับรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ โดยได้รับผู้ป่วยที่มีผลการตรวจเสมหะโรคโควิด19 เป็นบวกแล้วจำนวน 3 ราย ในวันที่ 3, 4 และ16 เมษายน 2563 จำนวนวันละ 1 ราย และได้เสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย   ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไปร่วมปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในต่างประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงร่วมกับการเสพข้อมูลจากสื่อแหล่งต่างๆในชีวิตประจำวันที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนรวมทั้งบุคลากรทางสาธารณสุขเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัวอันตรายของโรคนี้  พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด19 ในห้องแรงดันลบอย่างใกล้ชิดผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ย่อมได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ    การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิดในมุมมองของผู้ที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญหน้าอยู่กับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น

10. กิจกรรมการพัฒนา การพัฒนาระบบคัดกรองผู้ป่วย PUI, การจัดตั้ง ARI Clinic, การพัฒนาระบบ Fast tract ผู้ป่วย PUI, การบริหารอัตรากำลังโรคอุบัติใหม่โควิด19 , การจัดตั้ง Cohort ward Covid19

11. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่โควิด19 อย่างเป็นรูปธรรม

12. บทเรียนที่ได้รับ วิถีชีวิตแบบ New normal ของคนไทยเมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่

13. การติดต่อกับทีมงาน จินต์จุฑา รอดพาล ตึก ICU1 โทร 161 มือถือ 0870923628